กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมินเข้าร่วมงานเซรามิกนานาชาติ ณ อำเภอเต๋อฮว่า เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมินเข้าร่วมงานเซรามิกนานาชาติ ณ อำเภอเต๋อฮว่า เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ย. 2567

| 197 view

        เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน เข้าร่วมงานนิทรรศการสัปดาห์วัฒนธรรมเซรามิกนานาชาติ ประจำปี ค.ศ. 2024 และนิทรรศการเซรามิกนานาชาติ ครั้งที่ 5 ณ อำเภอเต๋อฮว่า เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน (2024 Dehua International Ceramic Culture Week and The 5 the Dehua International Ceramic Expo) ตามคำเชิญของสำนักงานการต่างประเทศเมืองเฉวียนโจว

        ในโอกาสดังกล่าว กงสุลใหญ่ฯ และนายเจิ้ง หรงจุน รองนายอำเภอเต๋อฮว่าได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิกในปัจจุบันของสองประเทศ โอกาสการส่งเสริมความร่วมมือด้านเซรามิก โดยอาจจัดให้มีการเยือนของคณะผู้แทนของทั้งสองประเทศเพื่อศึกษาดูงานด้านเซรามิก รวมถึงส่งเสริมการจัดแสดงเซรามิกของทั้งสองฝ่าย โดยอาจจัดขึ้นในวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน และหรือวาระ 20 ปี การก่อตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งอาจรวมถึงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการตั้งรกรากของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย เส้นทางสายไหมทางทะเล และวัฒนธรรมร่วมระหว่างไทย-มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลเจียงซี ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด“จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน“

        ในโอกาสดังกล่าว ฝ่ายจีนได้สอบถามถึงโครงการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของจีนและไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยอำเภอเต๋อฮว่าร่วมกับหน่วยงานของไทยและหยุดชะงักลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งความเป็นไปได้ของการจัดทำความตกลงเมืองพี่เมืองน้อง การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระเบื้อง และความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาไทย-จีน การพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระหว่างกัน รวมถึงโอกาสของจีนในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในประเทศไทยในจำนวนพื้นที่ (บูธ) ที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

        งานเซรามิกนานาชาติดังกล่าว เป็นงานชั้นนำระดับมณฑลที่นำเสนอภูมิปัญญา เทคโนโลยีการผลิต แนวโน้มความนิยม ตลอดจนพัฒนาการต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องกระเบื้อง มีผู้เข้าร่วมออกร้านและให้ความสนใจจากทั่วโลกจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยก็สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องกระเบื้องให้ตอบโจทย์ soft power และกระแสความนิยมในปัจจุบัน โดยเรียนรู้จากแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและประสบการณ์ของอำเภอเต๋อฮว่าได้

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ