กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือเซี่ยเหมิน

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือเซี่ยเหมิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 มี.ค. 2566

| 393 view

        เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 นายพีระวัฒน์ อัศวปรานี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือเซี่ยเหมินซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบ on-site และผ่านระบบทางไกล โดยมีผู้บริหารภาครัฐไทยและจีนเข้าร่วม อาทิ นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายหวง เยี่ยนเทียน รองนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยเหมิน นายจาง เฉวียน อธิบดีสำนักงานการต่างประเทศเมืองเซี่ยเหมิน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  นายเซี่ย ชางเหวิน ผู้อำนวยการท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน รวมถึงผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย รวมผู้เข้าร่วมทั้งฝ่ายไทยและจีนประมาณ 100 คน

        ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ฯ กล่าวชื่นชมทุกฝ่ายที่ร่วมกันผลักดันความร่วมมือท่าเรือพี่น้องฯ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก ความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน และการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค โดยการจัดทำข้อตกลงฯ นี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะที่ทั้งไทยและจีนกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศภายหลังจากการเผชิญภาวะชะงักงันที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 และจะช่วยรองรับปริมาณการค้าระหว่างไทย-จีนที่เพิ่มขึ้นภายใต้ความตกลง RCEP รวมถึงการขยายตัวของอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดนที่กำลังเติบโตขึ้น

        นอกจากนั้น ความร่วมมือท่าเรือพี่น้องฯ ยังเป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ EEC ของไทยที่เร่งขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรม Thailand 4.0 กับข้อริเริ่ม BRI ของจีน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงศักยภาพที่เกื้อกูลกันระหว่างเขตเศรษฐกิจ EEC กับเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเจียงซี โดยเมืองเซี่ยเหมินมีความแข็งแกร่งด้านการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง ขณะที่พื้นที่ EEC ของไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่เชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ มีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว รวมถึงแผนที่จะพัฒนาเป็น medical hub ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ชาวจีนที่มีฐานะ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของสถาบันและหลักสูตรการศึกษานานาชาติที่ชาวจีนนิยมไปศึกษาต่อ ทั้งนี้ ความร่วมมือท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลม - ท่าเรือเซี่ยเหมินจะนำไปสู่การเพิ่มพูนความร่วมมือไทย - จีน และความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

        ข้อริเริ่มในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือพี่น้องฯ เป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าพบหารือระหว่างกงสุลใหญ่ฯ กับนายหู ชางเซิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมืองเซี่ยเหมิน เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและจีนผลักดันอย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทั้งสองท่าเรือบรรลุข้อตกลงระหว่างกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ