กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กล่าวในงานสัมมนา “Chinese Enterprises Going Global Investment Conference” ในกรอบงานนิทรรศการการค้าและการลงทุนนานาชาติจีน ประจำปี ค.ศ. 2022

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กล่าวในงานสัมมนา “Chinese Enterprises Going Global Investment Conference” ในกรอบงานนิทรรศการการค้าและการลงทุนนานาชาติจีน ประจำปี ค.ศ. 2022

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ก.ย. 2565

| 439 view

          เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 นายพีระวัฒน์ อัศวปรานี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างประเทศเพื่อพิจารณาการค้าการลงทุนในประเทศไทยในงานสัมมนา “Chinese Enterprises Going Global Investment Conference” จัดโดยคณะกรรมการการจัดงาน China International Fair for Investment and Trade (CIFIT) ในกรอบงานนิทรรศการการค้าและการลงทุนนานาชาติจีน ประจำปี ค.ศ. 2022 (China International Fair for Investment and Trade - CIFIT 2022) ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติเมืองเซี่ยเหมิน โดยมีผู้แทนภาครัฐต่างประเทศเข้าร่วมงาน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจและการพาณิชย์สเปนประจำนครกว่างโจว สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สถานกงสุลใหญ่แคนาดา ณ นครกว่างโจว สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน สถานกงสุลใหญ่สวิตเซอร์แลนด์ ณ นครกว่างโจว สำนักงานการค้าภูมิภาคแฟลนเดอร์ส สถานกงสุลใหญ่เบลเยียม ณ นครกว่างโจว และผู้ประกอบการและ     นักลงทุนรวมจำนวนกว่า 100 คน จากวิสาหกิจกว่า 20 ราย
          กงสุลใหญ่ฯ กล่าวถึงบริบทโลกในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก กอปรกับผลกระทบจากสงครามในยุโรปตะวันออก ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น และความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องช่วยกันเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 จากปัจจัยเกื้อหนุน อาทิ การส่งออก การลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น รวมถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง RCEP โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ของไทยที่มุ่งปรับกระบวนทัศน์เศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขต EEC ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BGC) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับตัวต่อ       การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและรับผิดชอบ

กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวถึง ปัจจัยเอื้อที่ทำให้ไทยเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ศักยภาพด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และเครือข่ายระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมกับข้อริเริ่ม BRI ของจีน ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัล ระบบนิเวศที่เกื้อหนุนต่อการลงทุน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี เป็นต้น นอกจากนั้น กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวถึงบทบาทและความพร้อมของไทยในการเป็นประธานเอเปคภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ