กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กล่าวปาฐกถาในการประชุม 2022 International Economic and Trade Cooperation Summit Forum for Jiangxi Enterprises and China (Jiangxi) International Business Compliance Forum ณ นครหนานชาง มณฑลเจียงซี

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กล่าวปาฐกถาในการประชุม 2022 International Economic and Trade Cooperation Summit Forum for Jiangxi Enterprises and China (Jiangxi) International Business Compliance Forum ณ นครหนานชาง มณฑลเจียงซี

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ย. 2565

| 317 view

      เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 นายพีระวัฒน์ อัศวปรานี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถา ในการประชุม 2022 International Economic and Trade Cooperation Summit Forum for Jiangxi Enterprises and China (Jiangxi) International Business Compliance Forum จัดขึ้นโดยสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลเจียงซี (CCPIT Jiangxi) ณ นครหนานชาง มณฑลเจียงซี โดยมีผู้บริหารภาครัฐจีนเข้าร่วม อาทิ รองผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซี และประธาน CCPIT มณฑลเจียงซี คณะกงสุลต่างประเทศ อาทิ กงสุลใหญ่สิงคโปร์ ณ เมืองเซี่ยเหมิน และผู้แทนวิสาหกิจจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ พลังงานใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า วงจรรวม อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ เกษตรอัจฉริยะ เข้าร่วมประมาณ 250 คน

      กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวปาฐถกาภายใต้หัวข้อ “New Development Paradigm” (ที่ผู้จัดงานเป็นผู้กำหนด) ถึงความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลกของจีน (Global Development Initiative: GDI) สอดรับกับ SDGs และจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มขึ้นและมีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยสนับสนุนข้อริเริ่ม GDI ของจีน โดยมองว่า สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ไทยพยายามส่งเสริมให้เป็นแนวคิดกระแสหลักในทุกภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ

      ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับความท้าทายนานัปการ ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทานโลกที่ชะงักงัน ความขัดแย้งทางการค้าและเขตแดน การแบ่งขั้วทางการเมืองโลก ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะเกิดบ่อยและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลายประเทศจึงตั้งความหวังว่าข้อริเริ่ม GDI ของจีนจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันได้

      การจัดการสัมมนาของมณฑลเจียงซีในครั้งนี้ ซึ่งมีภาคเอกชนและวิสาหกิจจากทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมของมณฑลฯ เข้าร่วม จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลของโลกด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม โดยภาคเอกชนมีส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและสามารถให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจีนและอาเซียนสามารถร่วมกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาค ท้ายสุด กงสุลใหญ่ฯ กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนของจีนพิจารณาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขาของไทย เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ